ตั้งชื่อลูกอย่างไรให้เหมาะสม

ชื่อถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งตั้งแต่เกิด จนกระทั่งแม้ลาจากโลกนี้ไป ชื่อของคนดีก็ยังจะคงจาลึกไว้ในความทรงจำของผู้คน คุณพ่อคุณแม่จึงต่างจัดเตรียมที่จะตั้งชื่อลูกน้อยของตนเองตั้งแต่ยังไม่ออกจากครรภ์เลยทีเดียว บ้างให้พระท่านตั้งให้ บ้างให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านตั้งให้ นั้นแสดงถึงความสำคัญของชื่อที่มีต่อคนเราเสมอมา ในการตั้งชื่อลูกในสมัยก่อนจนถึงปัจจุบันได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งในแต่ละรูปแบบก็มีหลักยึดถือปฏิบัติที่แตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่ และความเชื่อที่พึงปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยทั้งหมดต่างต้องการให้เกิดความเป็นสิริมงคล เป็นที่นิยมยกย่อง และความเจริญรุ่งเรืองกับชีวิตของลูกน้อยเอง

 

 

การตั้งชื่อในสมัยปัจจุบัน ชื่อที่พบส่วนใหญ่จะเป็น 2 พยางค์ขึ้นไป ภาษาที่ใช้ในการตั้งชื่อนิยมใช้ภาษาบาลีสันสกฤตเป็นอย่างมาก นอกนั้นเป็นภาษาไทย และภาษาบาลีสันสกฤตผสมภาษาไทย นอกจากนี้ก็ยังนิยมสรรหาชื่อที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนคนอื่น จึงปรากฏชื่อที่มีรูปลักษณ์ทางภาษาแปลกแตกต่าง หรือมีหลายพยางค์มากกว่าสมัยที่ผ่านมา โดยความหมายของชื่อจะลดความนิยมชื่อที่มีความหมายเป็นรูปธรรม และมีความหมายเป็นนามธรรมมากขึ้น เช่นชื่อที่มีความหมายแสดงอำนาจ ความเจริญ ชัยชนะ ความงาม หรือศิริมงคล สังเกตได้ว่าระหว่างแต่ละสมัยชื่อของคนไทยมีจำนวนพยางค์เพิ่มขึ้น หรือยาวขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการขยายชุมชน เมื่อชุมชนใหญ่ขึ้น ประชาชนมากขึ้น ชื่อย่อมมีโอกาสซ้ำกันมากขึ้น และเนื่องจากชื่อเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นในการสื่อสารให้สะดวกและถูกต้อง จึงต้องมีชื่อที่บ่งบอกเฉพาะลงไปเพื่อกำหนดการเรียกขานตัวกันชัดเจนไม่สับสน การตั้งชื่อให้ยาวขึ้นจึงเป็นทางออกหนึ่ง นอกจากการตั้งชื่อให้ยาวขึ้นแล้ว การตั้งชื่อให้แปลกใหม่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งชื่อซ้ำ ซึ่งพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ความสำคัญอยู่ที่จะแสดงลักษณะเด่นของผู้เป็นเจ้าของชื่อให้เป็นที่รู้จักจำได้ เช่น เสียงแปลก สะกดแปลก ฯลฯ ฉะนั้นถึงแม้จะมีควาหมาย หรือไม่มีความหมายจึงไม่น่าจะถือเป็นสิ่งสำคัญ